เปลี่ยน work hard เป็น work smart ด้วย systematic thinking อัพสกิลคิดอย่างเป็นระบบ

Posted by nor-arfah on April 16, 2022

บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินคำพูดที่ว่า “แทนที่จะ work hard ให้เปลี่ยนมาเป็น work smart จะดีกว่า” แต่ว่า “work smart” คือนิยามการทำงานแบบไหน ที่จะแทนที่การทำงานหนักเพื่อผลลัพธ์ที่มากกว่าตามค่านิยมสมัยก่อน? วันนี้ JobsDB อยากแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับคำว่า Systematic thinking Work smart แบบที่เราจะนำเสนอ ก็คือ การทำงานแบบได้รับการวางแผนอย่างเป็นระบบ มีการจัดตารางงานอย่างเป็นระเบียบ ทำงานในเวลางาน แต่เน้นที่ทำงานเต็มที่เพื่อที่จะได้เหลือเวลาไปพักผ่อนและใช้ชีวิต ซึ่งจุดเริ่มต้นทั้งหมดของการ work smart ก็คือการคิดอย่างเป็นระบบ หรือ Systematic thinking

Systematic thinking คือ การคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีระบบการคิดโดยมองเห็นภาพรวมและความเชื่อมโยงขององค์ประกอบในรายละเอียดที่สัมพันธ์กัน เป็นการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล เพื่อให้สามารถวางระเบียบให้กับการกระทำและการตัดสินใจอย่างเป็นระบบ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่ดีที่สุด นี่ทักษะสำคัญในการทำงาน โดยเฉพาะกับผู้บริหารที่ต้องรับภาระหน้าที่ มีเรื่องให้ต้องคิด ต้องรับผิดชอบมากมาย

การทำงานโดยใช้การคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจะช่วยให้สามารถมองเห็นภาพรวมของสถานการณ์ งานและปัญหาที่เกิดขึ้น สามารถเข้าใจรายละเอียดต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของเหตุการณ์หรือปัญหาต่าง ๆ มองเห็นว่าองค์ประกอบเหล่านั้นสัมพัทธ์กันอย่างไร และจะต้องทำอะไรหรือแก้ตรงจุดไหนเพื่อให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้ หรือทำให้ผลลัพธ์ของการทำงานออกมาดีที่สุด ช่วยให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจและวางแผนงานได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวมไปถึงการจัดการงานต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

ในหนังสือ The Fifth Discipline : The art and practice of the learning organization ของ Peter Senge ศาสตราจารย์จาก MIT ได้กล่าวถึงหัวใจของการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้คือการสร้างเสริมวินัย 5 ประการ ซึ่ง 1 ในนั้นคือการส่งเสริมให้องค์กรมี Systematic Thinking ทั้งในระดับบุคคล (Personal) และ ทีม (Team) เพื่อผลลัพธ์การทำงานที่มีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์และสามารถพัฒนาขีดความสามารถได้อย่างต่อเนื่อง

สร้างการคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนด้วยทฤษฎีหมวก 6 ใบ

ดร. เอ็ดเวิร์ด เดอ โบ โน (Dr.Edward de Bono) ศาสตราจารย์ด้านการคิดชาวอิตาลีได้คิดค้นทฤษฎีหมวก 6 ใบ หรือ Six Thinking Hats เพื่อใช้เป็นหลักวิธีคิดแบบรอบด้าน โดยเปรียบเทียบความคิดด้านต่าง ๆ กับ หมวก 6 ใบที่แบ่งเป็นสี 6 สี ซึ่งเป็นการสร้างระบบความคิดที่ครอบคลุม และจัดระเบียบความคิดที่มักจะกระจัดกระจายให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดยหมวกทั้ง 6 ใบประกอบไปด้วย

  • White hat – หมวกสีขาว หมายถึง ข้อเท็จจริง ข้อมูลพื้นฐาน ที่อาจจะเป็นตัวเลข หรือผลการศึกษาวิจัยที่มีข้อมูลรองรับที่เชื่อถือได้ เป็นการคิดวิเคราะห์จากข้อมูลและข้อเท็จจริงเป็นหลักโดยที่ตัดทัศนคติและความเห็นส่วนตัวของแต่ละบุคคลออกไป
  • Red Hat – หมวกสีแดง หมายถึง การแสดงออกตามอารมณ์ ความรู้สึก การใช้สัญชาตญาณและลางสังหรณ์ หรือ gut feeling โดยไม่ต้องคิดถึงเหตุผลใด ๆ เพื่อมาประกอบการตัดสินใจ
  • Black Hat – หมวกสีดำ หมายถึง ความคิดเชิงลบ การมองจุดด้อย อุปสรรคและข้อจำกัดต่าง ๆ การคิดถึง worst case scenario หรือสิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ ความคิดนี้จะช่วยประเมินความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น และทำให้สามารถวางแผลเพื่อลบจุดด้อยต่าง ๆ ได้ก่อนที่จะเกิดขึ้นจริง
  • Yellow Hat – หมวกสีเหลือง หมายถึง ความคิดเชิงบวก มองโลกในแง่ดี มองเห็นจุดเด่น ประโยชน์ หรือโอกาส การมีความหวังว่างานหรือการตัดสินใจเหล่านั้นจะส่งผลดีอย่างไรบ้าง ความคิดเชิงบวกเหล่านี้จะช่วยให้เรามองเห็นโอกาสที่ซ่อนอยู่แม้ในสถานการณ์ที่ไม่สู้ดี
  • Green Hat – หมวกสีเขียว หมายถึง ความคิดริเริ่ม ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดนอกกรอบที่ไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ แต่อาศัยประสบการณ์เป็นพื้นฐานความคิด และต่อยอดความคิดนั้น เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น
  • Blue Hat – หมวกสีน้ำเงิน หมายถึง การประกอบและบริหารกระบวนการคิดต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจน สามารถมองเห็นภาพรวมได้ มีข้อสรุป มองเห็นข้อดี ข้อเสียอย่างตรงไปตรงมา สร้างสมการและจัดระบบความคิดได้อย่างเป็นระเบียบผ่านการมองให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนและลงตัวที่สุดสำหรับผลลัพธ์การทำงานที่ตั้งเป้าหมายไว้

หมั่นฝึกการคิดแบบ Systematic Thinking ด้วยทฤษฎีหมวก 6 ใบ เชื่อได้ว่าจะทำให้คุณกลายเป็นผู้บริหารองค์กรที่สามารถมองเห็นภาพรวมของปัญหาและคิดได้รอบด้านก่อนตัดสินใจ ยิ่งฝึกบ่อยจนเป็นนิสัย ก็จะทำให้คุณสามารถตัดสินใจได้รวดเร็วขึ้นแต่ยังมีความแม่นยำเหมือนเดิม และถ้านำไปประยุกต์ใช้กับองค์กร ส่งเสริมให้พนักงานหรือลูกน้องฝึกคิดฝึกแก้ปัญหาด้วยการคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเหมือนกัน ก็จะทำให้พนักงานสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระ มีความคิดที่ครอบคลุม ลดความขัดแย้งในความคิดที่ไม่จำเป็น และยังสามารถดึงเอาศักยภาพของแต่ละคนมาใช้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่จะช่วยให้องค์กรพัฒนาและเดินหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง

อ้างอิง : prosofthrmi